ผมเป็นเภสัชกร เห็นการโฆษณาสรรพคุณของน้ำมันมะพร้าวโดยการอ้างงานวิจัยต่างๆแล้วเกิดความสับสนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ เพราะเพื่อนเภสัชกรด้วยกันเองหลายคนก็คล้อยตามว่าน้ำมันมะพร้าวดีต่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือด บางคนถึงกับดื่มน้ำมันมะพร้าวทุกเช้า ขอถามคุณหมอสันต์ว่ามีความเห็นอย่างไรที่เขาอ้างงานวิจัยต่อไปนี้
1. ประเทศศรีลังกา มีอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจต่ำมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารหลัก
2. เมื่อฝรั่งแนะนำให้เลิกบริโภคน้ำมันปาลม์และน้ำมันมะพร้าวเพื่อไปบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวแบบตะวันตก ทำให้อุบัติการณ์ของโรคหัวใจหลอดเลือดและเบาหวานในประเทศเอเซียสูงขึ้น
3. งานวิจัยพบว่าน้ำมันมะพร้าวลดไขมันในเลือด น้ำหนักลดลง และทำให้อายุยืนขึ้น
4. น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริกฆ่าเชื้อโรคได้ ทำให้ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งกลไกการเกิดโรคกลไกหนึ่งคือการติดเชื้อโรคเรื้อรัง
รบกวนคุณหมอช่วยไขข้อข้องใจด้วยนะครับ
...............................................
ตอบครับ
1. แหล่งข้อมูลสนับสนุนน้ำมันมะพร้าวส่วนใหญ่อ้างบทความวิชาการ (ไม่ใช่งานวิจัย) เขียนโดย Kaunitz ตีพิมพ์ในวารสารพยาธิวิทยาพิษวิทยามะเร็งวิทยาสิ่งแวดล้อม (J Environ Pathol Toxicol Oncol) เมื่อ คศ. 1986 หรือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว โดยบทความนั้นอ้างว่าอุบัติการณ์โรคหัวใจหลอดเลือดของประเทศศรีลังกาอยู่ในระดับต่ำเพราะประเทศศรีลังกาบริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารหลัก แต่คำอ้างดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้มาก เพราะอุบัติการณ์ของโรคที่ว่าต่ำนั้นอ้างอิงจากบันทึกสรุปของสหประชาติ (The Demographic Yearbook of the United Nations 1978) ซี่งเป็นข้อมูลในยุคสามสิบกว่าปีมาแล้ว โถ สมัยนั้นยุคนั้นอุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศกำลังพัฒนาก็ล้วนแต่ต่ำเหมือนกันทั้งสิ้น รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีประเทศไหนต่ำแล้ว จนองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 ประมาณ 90% ของคนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดของทั้งโลกนี้ จะอยู่ที่ทวีปเอเชีย
2. การตั้งข้อสังเกตที่ว่าในประเทศที่เคยมีอุบัติการณ์ของโรคหัวใจหลอดเลือดและเบาหวานต่ำเมื่อมาเปลี่ยนอาหารจากน้ำมันปาล์มน้ำมันมะพร้าวซึ่งเคยทานกันดั้งเดิมไปเป็นไขมันไม่อิ่มตัวตามคำแนะนำของตะวันตกแล้วทำให้อุบัติการณ์ของโรคหัวใจหลอดเลือดและเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นการพูดให้คนเข้าใจอะไรผิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการศึกษาเชิงระบาดวิทยาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยโภชนาการอเมริกัน (JACN) เมื่อปีที่แล้วนี่เอง พบว่าการเปลี่ยนแปลงอาหารในเอเซียใต้ (เช่นอินเดีย ศรีลังกา) ทิศทางหลักของการเปลี่ยนแปลงคือลดอาหารแบบดั้งเดิม ที่มีกากมาก มีไขมันต่ำ มีแคลอรี่ต่ำ ไปเพิ่มอาหารแบบใหม่ที่มีกากน้อยลง มีแคลอรี่สูงขึ้นมาก และมีไขมันมากขึ้น ทั้งนี้การศึกษาชนิดไขมันที่เพิ่มขึ้นพบว่า มีการบริโภคไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นทั้งในรูปแบบของไขมันจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และจากเนยใส (ghee) ขณะเดียวกันก็มีการบริโภคไขมันทรานส์เพิ่มขึ้นด้วย ในรูปของเนยใสเทียม ( Vanaspati ghee) ดังนั้นอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ได้เกิดจากการลดการบริโภคน้ำมันปาลม์น้ำมันมะพร้าวแต่อย่างใด
3. การอ้างงานวิจัยที่ว่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ชนิดสายโซ่ขนาดกลาง (medium chain triglyceride - MCT) ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว สามารถลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนัก และทำให้อายุยืนขึ้นนั้น มีรากมาจากบทความของ Kaunitz เช่นกัน งานวิจัยที่บทความนี้อ้างถึงทำไว้หลายสิบปีมาแล้ว โดยทดลองกรอกให้หนูกินน้ำมัน MCT เป็นหลักแล้วพบว่าหนูกลุ่มที่กรอกไขมัน MCT มีไขมันในเลือดต่ำลง น้ำหนักลดลง และอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น วิธีอ้างเช่นนี้เป็นการหลอกให้คนเชื่อถือโดยอ้างหลักฐานวิทยาศาสตร์แต่หลบประเด็นระดับชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์ เพราะในวงการแพทย์ การอ้างงานวิจัยในสัตว์ทดลองถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำ วงการแพทย์ไม่ได้เอาข้อมูลจากหลักฐานระดับนี้มาใช้กับคน เพราะยังห่างไกลกว่าจะถึงจุดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในคนได้จริงๆ
4. น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริกฆ่าเชื้อโรคในจานเพาะเลี้ยงบักเตรีในห้องแล็บได้ อันนี้เป็นเรื่องจริง แต่ความรู้อันนี้ไม่มีประโยชน์อะไรในคน เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าระดับของกรดลอริกที่ทานเข้าไปกับน้ำมันมะพร้าวจะไปไปฆ่าเชื้อบักเตรีใดๆที่ก่อโรคในร่างกายได้ ส่วนการต่อยอดโดยอ้างเป็นทอดๆว่า เช่นพูดว่า
“..น้ำมันมะพร้าวฆ่าเชื้อโรคได้
เชื้อโรคทำให้อักเสบ
โรคหัวใจหลอดเลือดเกิดจากการอักเสบ
น้ำมันมะพร้าวจึงรักษาโรคหัวใจหลอดเลือดได้..”
แบบนี้เป็นวิธีหลอกให้คนเชื้อโดยใช้ตรรกะในคำพูด เอางี้ดีกว่า ถ้าผมพูดว่า
“..ฆ่าแมวเนี่ยบาปเท่ากับฆ่าพระอรหันต์เชียวนะ
ถ้างันผมฆ่าพระอรหันต์องค์หนึ่ง ผมก็บาปเท่ากับฆ่าแมวตัวเดียวเอง..”
ผมพูดอย่างนี้คุณจะศรัทธาผมแมะ (ล้อเล่นนะครับ)
เรื่องไขมัน MCT นี้ผมขอผมขอแถมอีกสี่ห้าประเด็น
(1) น้ำมันปาลม์และน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ชนิดสายโซ่ขนาดกลาง (MCT) เมื่อเป็นไขมันก็ย่อมต้องมีแคลอรี่สูง คนที่คิดจะลดความอ้วนโดยกินของมีแคลอรี่สูงก็บ้าแล้ว ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวลดความอ้วนไม่ได้
(2) คุณสมบัติของกรดรอลิกในน้ำมันมะพร้าวที่ว่าฆ่าเชื้อโรคได้ วงการแพทย์ยังค้นไม่พบวิธีใช้ประโยชน์ตรงนี้ ถ้าใครค้นพบก็ช่วยตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้วย อาจได้รางวัลโนเบลก็ได้นะครับ (ขอโทษ ปากเสีย ชอบแนะแหน)
(3) ความแตกต่างของไขมันอิ่มตัวชนิด MCT กับไขมันอิ่มตัวชนิดสายโซ่ยาว (LCT) เช่นไขมันจากสัตว์ ในแง่ของการก่อโรคหัวใจหลอดเลือดนั้น ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่ามันแตกต่างกัน ผมทราบว่าทางมาเลเซียซึ่งเป็นกองเชียร์หลักของน้ำมันปาลม์ได้ทุ่มวิจัยตรงนี้อย่างหนักแต่หลายปีผ่านมาแล้วก็ไม่เห็นตีพิมพ์ผลวิจัยอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ในระหว่างที่ไม่มีข้อมูลใหม่ที่เชื่อถือได้นี้ ควรถือตามหลักฐานปัจจุบัน คือน้ำมันปาล์มน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีผลเสียทำให้ไขมันเลวในร่างกายสูงขึ้น ทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น เช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัวอื่นๆ
(4) อย่าให้เขาหลอกเปรียบมวยระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับไขมันทรานส์ โดยใช้คำพูดให้เข้าใจผิดว่าไขมันทรานส์คือน้ำมันถั่วเหลืองธรรมดา (ความจริงคือต้องเอาน้ำมันถั่วเหลืองธรรมดามาอัดไฮโดรเจนก่อน จึงจะกลายเป็นไปไขมันทรานส์) เพราะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการแพทย์แล้วว่าไขมันทรานส์นั้นแม้จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว แต่ก็เลวต่อสุขภาพสุดๆ เลวยิ่งกว่าน้ำมันปาลม์และน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว ดังนั้นเปรียบกันทีไร น้ำมันปาลม์และนัำมันมะพร้าวจึงย่อมชนะทุกที (ฉลากอาหารบ้านเราไม่ถูกบังคับให้บอกว่ามีไขมันทรานส์อยู่เท่าใด แต่ถูกบังคับให้บอกว่ามีไขมันอิ่มตัวอยู่เท่าใด แปลกดีแมะ)
....................................
Update 5 กย. 2556
ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยเล็กๆที่บราซิลในวารสาร Lipid ใช้หญิงที่มีเส้นรอบพุงเกิน 88 ซม. จำนวน 40 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มให้กินอาหารแคลอรี่ต่ำควบกับการออกกำลังกายเด้วยการเดินวันละ 50 นาทีทุกเช้า ต่างกันตรงที่กลุ่มที่หนึ่งให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวครั้งละ 30 ซีซี.ทุกเช้า กลุ่มที่สองให้ดื่มน้ำมันถั่วเหลือง 30 นาที ทุกเช้า ทำอย่างนี้นาน 12 สัปดาห์ แล้วพบว่า กลุ่มที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวมีไขมันดี (HDL) สูงกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำมันถั่วเหลืองเล็กน้อย (48.7 : 45.0) และพบว่าทั้งสองกลุ่มมีเส้นรอบพุงลดลงโดยที่กลุ่มดื่มน้ำมันมะพร้าวลดลงมากกว่าเล็กน้อยแบบต่างกันฉิวเฉียด (p<0 .05="" lang="TH" span="">) งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานแรกที่แสดงว่าครั้งน้ำมันมะพร้าวไม่ได้ส่งผลลบต่อโครงสร้างไขมันในเลือด (HDL/LDL ratio) อย่างที่เคยเข้าใจกัน แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยขนาดเล็กและมีระยะติดตามสั้นมากจนยังสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะในทางการแพทย์ไม่ได้ แต่งานวิจัยนี้ก็ก่อให้เกิดความ “บ้าน้ำมันมะพร้าว” และความ “บ้ามะพร้าว” ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมาก จนมะพร้าวไม่มีขาย ในวงการแพทย์เองยังไม่ปักใจเชื่องานวิจัยเล็กๆนี้เสียทีเดียว ยังคงรองานวิจัยที่ใหญ่กว่ามาพิสูจน์ยืนยัน ขณะนี้วงการแพทย์ก็ยังถือว่าน้ำมันมะพร้าวเหมือนน้ำมันปาล์มตรงที่เป็นไขมันอิ่มตัวซึ่งก่อโรค และควรหลีกเลี่ยง
บรรณานุกรม
1. Kaunitz, H. 1986. Medium chain triglycerides (MCT) in aging and arteriosclerosis. J Environ Pathol Toxicol Oncol 1986;6(3-4):115.
2. Misra A, Singhal N, Khurana L. Obesity, the metabolic syndrome, and type 2 diabetes in developing countries: role of dietary fats and oils. J Am Coll Nutr. 2010 Jun;29(3 Suppl):289S-301S.
3. Misra A, Khurana L, Isharwal S, Bhardwaj S. South Asian diets and insulin resistance. Br J Nutr. 2009 Feb;101(4):465-73. Epub 2008 Oct 9.
4. Assunção ML, Ferreira HS, dos Santos AF, Cabral CR Jr, Florêncio TM. Effects of dietary coconut oil on the biochemical and anthropometric profiles of women presenting abdominal obesity. Lipids. 2009 Jul;44(7):593-601. doi: 10.1007/s11745-009-3306-6.